ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับเครึ่องจักรกลในงานก่อสร้าง

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับเครึ่องจักรกลในงานก่อสร้าง

           การก่อสร้างปัจจุบันนี้ ได้นำเอาเครื่องทุ่นแรงหรือเครื่องจักรกลต่างๆ เข้ามาใช้ดำเนินการเป็นจำนวนมากนับวันยิ่งจะมีบทบาทเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้เพราะต้องการผลงานทีได้มาตรฐานตรงตามข้อกำหนดในรายการก่อสร้าง (Specifications) ประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งทำเพื่อลดค่าใช้จ่าย โดยมุ่งหวังให้งานเสร็จทันตามกำหนดเวลาด้วย ถึงแม้ว่าแรงงาน (Labour) ประเทศเราจะหาได้ง่าย ค่าแรงงานถูก เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลาย แต่เหตุผลสำคัญที่นำเอาเครื่องจักรกลเข้ามาใช้ดำเนินการก่อสร้างนั้นเพราะว่า
           1. ประสิทธิภาพการทำงานบางอย่างสูงกว่าการใช้แรงงาน เครื่องจักรกลบางชนิดใช้แทนแรงงานได้ หลาย ๆ คน และเมื่อใช้เครื่องจักรกลแล้ว ค่าใช้จ่ายจะต่ำกว่าการใช้แรงงานอีก
           2. การทำงานบางอย่างซึ่งถ้าใช้แรงงานแล้ว อาจจะทำให้เกิดความล่าช้าไม่สะดวกด้วยประการทั้งปวง และไม่สามารถทำงานให้เสร็จตามกำหนดเวลาได้
           3. ลักษณะของงานก่อสร้างบางอย่าง ต้องกระทำให้ตรงตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ในรายการก่อสร้าง เช่น การบดอัด การตัดเกรด เป็นต้น ซึ่งแรงงานไม่สามารถจะทำให้ได้ผลดีเท่ากับเครื่องจักรกล และในงานบางประเภทไม่สามารถจะใช้แรงงานได้เลย ต้องใช้เฉพาะเครื่องจักรกล เท่านั้น
           4 แนวโน้มของค่าแรงสูงขึ้นเรื่อยๆ จึงมีการคิดค้นเครื่องจักรกลและเครื่องทุ่นแรงต่าง ๆ เข้ามาใช้งาน เพื่อจะได้ลดจำนวนคนงานลงได้
           5 การใช้แรงงานเป็นจำนวนมาก ย่อมก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ขึ้นได้เสมอ เป็นปัญหาเรื่องที่อยู่ อุบัติเหตุ ข้อพิพาทระหว่างผู้ใช้แรงงานด้วยกันเอง การร้องเรียกผลประโยชน์ต่างๆตลอดจนการนัดหยุดงาน เพื่อต่อรองกับผู้รับเหมาก่อสร้าง อันเป็นปัญหาแรงงานซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเวลาและค่าใช้จ่ายของงานโครงการอย่างแน่นอน

           ดังนั้นการใช้เครื่องจักรกลจึงขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้ควบคุมงานหรือวิศวกรโครงการ (Project Engineer.) ว่าควรจะใช้เครื่องจักรชนิดไหนกับงานรูปแบบใด หรือจะนำไปใช้กับงานในภูมิประเทศอย่างไร ซึ่งเครื่องจักรกลแต่ละชนิด แต่ละแบบนั้นย่อมมีความเหมาะสมกับงานและลักษณะภูมิประเทศที่แตกต่างกันด้วย

ประเภทของเครื่องจักรกล
           เครื่องจักรกลในงานก่อสร้าง มีอยู่ด้วยกันหลายประเภทหลายชนิด ซึ่งแต่ละประเภทแต่ละชนิดมีขีดความสามารถและความเหมาะสมกับการใช้งานแต่ละอย่างต่างกันไป ดังนั้น ผู้ดำเนินการก่อสร้าง นอกจากจะต้องมีความชัดเจนเกี่ยวกับวิธีการก่อสร้างเป็นอย่างดีแล้วจะต้องรู้จักเลือกใช้ประเภท ชนิดและขนาดของเครื่องจักรกลให้เหมาะสมกับสภาพงานนั้นๆ ด้วย จึงคุ้มค่ากับการลงทุนจนสำหรับการแบ่งประเภทของเครื่องจักรกลได้แบ่งออกเป็

           ประเภทของการใช้งาน คือ
           1. เครื่องจักรกลที่ใช้ยกและขนถ่ายวัสด
           2. เครื่องจักรกลที่ใช้ยกในงานดิน
           3. เครื่องจักรกลที่ใช้ยกในงานคอนกรีต
           4. เครื่องจักรกลที่ใช้ในงานถนน
           5. เครื่องจักรกลที่ใช้กับงานฐานราก
           6. เครื่องจักรกลที่ใช้ในงานขุดเจาะ

หลักการเลือกใช้เครื่องจักรกล
           หลักการทั่วไปควรเลือกใช้เครื่องจักรกล ที่มีคุณภาพดีเชื่อถือได้ มีบริการอะไหล่พร้อมเพียงอย่างสม่ำเสมอ มีบริการซ่อมที่มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้เพื่อลดเวลาการซ่อมบำรุงให้น้อยลง จะได้มีเวลาในการทำงานมากขึ้น ซึ่งจะเป็นผลให้งานก่อสร้างเสร็จเร็วขึ้น และลดต้นทุนการก่อสร้างให้ถูกลง โดยมีข้อควรพิจารณา ดังต่อไปนี้
           1. เลือกขนาดเครื่องจักรกลว่าจะต้องใช้เครื่องจักรกลขนาดใด ชนิดไหนจึงจะเหมาะสมกับงานที่กระทำอยู่ ข้อนี้ขึ้นอยู่กับชนิดและปริมาณของงาน ระยะทางการขนถ่ายวัสดุจากแหล่งวัสดุไปยังบริเวณก่อสร้าง หลักสำคัญคือจะต้องให้เครื่องจักรกลต่างๆ ทำงานสัมพันธ์กัน โดยไม่ต้องหยุดรอเครื่องจักรกลบางเครื่อง ในขณะที่เครื่องจักรกลอื่นทำงานอยู่ ทั้งนี้จะต้องให้เครื่องจักรกลแต่ละเครื่องทำงานเต็มกำลังความสามารถ ดังนั้น การเลือกเครื่องจักรกลจึงต้องพอเหมาะกับงานไม่มีขนาดใหญ่หรือเล็กจนเกินไป
           2. เลือกใช้เครื่องจักรกลแต่ละชนิดให้ถูกต้องเหมาะสมกับลักษณะของงานและสภาพของงาน เพื่อให้เครื่องจักรกลมีอายุการใช้งานยาวนาน เป็นการลดต้นทุนการซ่อมบำรุงไปด้วย เช่น เครื่องจักรกลที่มีอุปกรณ์สำหรับงานดินไม่ควรนำไปใช้กับงานหิน ซึ่งจะทำให้อายุการใช้งานชองเครื่องจักรกลนั้นสั้นลง หรือ รถตักก็ไม่ควรนำไปใช้งานดันหรือตักดินโดยไม่กองดินไว้ก่อนโดยรถแทรกเตอร์ เป็นต้น ทั้งนี้เพราะเครื่องจักรกลแต่ละชนิดได้ออกแบบเพื่อใช้งานเฉพาะแต่ละอย่างเท่านั้น ถ้านำไปใช้ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์จะทำให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี จึงเป็นการไม่คุ้มค่ากัน
           3. ใช้เครื่องจักรกลให้เต็มความสามารถ แต่ต้องไม่เกินขีดความสามารถเป็นอันขาด ทั้งนี้เพื่อให้ได้ประโยชน์มากที่สุดจากการใช้เครื่องจักรเหล่านั้น บางเครื่องอาจต้องติดอุปกรณ์พิเศษบางอย่างช่วย เพื่อให้เหมาะสมกับลักษณะของงาน เช่น ใช้ลิปเปอร์ติดท้ายรถแทรกเตอร์ เพื่อขุดลากกับสภาพของดินหรือหิน ซึ่งแข็งเกินกว่าที่จะใช้ใบมีดไถดันโดยตรง ลักษณะเช่นนี้ย่อมจะทำให้งานง่ายขึ้น และยังช่วยให้อายุการใช้งานของเครื่องจักรกลยาวนานขึ้นอีกด้วย
           4 ใช้เครื่องจักรกลตามข้อแนะนำของผู้ผลิตอย่างเคร่งครัด เพื่อรักษาเครื่องจักรกลให้อยู่ในสภาพที่ดีจะช่วยลดการสึกหรอของเครื่องจักรกลได้ ค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงกจะต่ำลง ทั้งนี้จะต้องเลือกผู้ที่มีความชำนาญในการใช้เครื่องจักรกลนั้นๆ เป็นอย่างดี โดยกำหนดหน้าที่เป็นพนักงานบังคับรถตลอดจนมีผู้ดูแลบำรุงรักษาประจำรถ หรือเครื่องจักรกลนั้นๆ ด้วย
           5 ในงานก่อสร้างผู้ควบคุมควรมีความเข้าใจถึงความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นแก่เครื่องจักรกลบ้างตามสมควร ถ้าเกิดการชำรุดเพียงเล็กน้อยก็ควรหยุดเพื่อตรวจสอบและแก้ไข เพื่อป้องกันการเสียหายมากขึ้น จนต้อหยุดซ่อมเครื่องจักรกลเป็นเวลาหลายๆ วันซึ่งจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น การทำงานต้องชะงักลงด้วย และแผนการทำงานรองโครงการต้องล่าช้ากว่าปกติ

ปัญหาและสาเหตุของอุบัติเหตุเกี่ยวกับการใช้เครื่องจักรกล
ปัญหาและสาเหตุของอุบัติเหตุในการใช้เครื่องจักรกล สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเด็น คือ
           1. ทางด้านแรงงาน พนักงาน ผู้ควบคุมเครื่องจักรกล และผู้ปฏิบัติงาน
                      - แรงงานในประเทศไทยส่วนใหญ่ เป็นชาวนา ชาวไร่ มีการศึกษาไม่สูงนักขาดความรู้ ทักษะการทำงานที่ใช้เครื่องจักรกล
                      - ขาดระเบียบในการทำงานกับเครื่องจักรกล โดยมักจะไม่สวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล (PPE)
                      - ทางบริษัทผู้รับผิดชอบไม่มีการจัดฝึกอบรมให้กับพนักงานก่อนที่จะทำงานกับเครื่องจักรกล
           2 ทางด้านเครื่องจักรกล
                      - การใช้ครื่องจักรกลผิดประเภทกับงานที่ทำ เครื่องจักรแต่ละชนิดจะถูกออกแบบ และกำหนดแนวทางการใช้เฉพาะงาน
                      - การใช้เครื่องจักรกลเกินขีดความสามารถที่จะทำได้
                      - มีการแก้ไขดัดแปลงเครื่องจักรกลเอง โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์
                      - ไม่มีมาตราการ และออกกฎระเบียบในการใช้เครื่องจักรกลนั้นๆ
                      - ไม่มีการบำรุงตรวจสภาพเครื่องจักรกลและอุปกรณ์ประกอบตามระยะเวลาที่ผู้ผลิตกำหนด

ขอบคุณข้อมูลจาก : กองความปลอดภัยแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน

Visitors: 2,996,200